ทำไมแผนกลยุทธ์องค์กรจึงล้มเหลว?

April 22, 2022

โดย วันเฉลิม สิริพันธุ์, Managing Partner, Pragma and Will Group Co., Ltd.

แชร์บทความนี้

Facebook
Twitter
LinkedIn

การบริหารกลยุทธ์เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และองค์กรส่วนมากมีแนวคิด มีแผนกลยุทธ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่หนึ่งในปัญหาที่แก้ไขยากที่สุดสำหรับองค์กรจำนวนมาก คือ “ไม่สามารถนำกลยุทธ์นั้นไปปฏิบัติใช้ได้จริง” ทำให้เวลาที่ใช้ไปกับความคิดริเริ่มด้านกลยุทธ์ไม่เกิดประโยชน์

 

แผนกลยุทธ์ต่างๆ ที่ผู้นำองค์กรหรือฝ่ายบริหารได้กำหนดแนวทางไว้ แม้จะดูดีเพียงใด แต่ถ้าหากไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงย่อมถือเป็นความล้มเหลว  รายงาน Strategy implementation: What is the failure rate?1 พบว่าการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นมีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น และจากการศึกษาของ Booz Allen บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการในปี 1989 ก็มีบทสรุปว่าผู้จัดการส่วนใหญ่เชื่อว่า “การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Strategy execution)” มีความยากลำบากมากกว่า “การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy formation)”

 

แผนกลยุทธ์ที่ดีอาจจะไม่สำเร็จเสมอไป

แผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงเป็นการกำหนดเป้าหมายขององค์กร แต่ยังสะท้อนถึงเบื้องหลังของเป้าหมายและวิธีการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย แผนกลยุทธ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จและความยั่งยืนของธุรกิจ หากไม่มีกลยุทธ์ก็จะทำให้องค์กรอาจขาดทิศทาง ขาดประสิทธิภาพ หรือไม่บรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

แผนกลยุทธ์ที่ดีจะช่วยให้แต่ละหน่วยงานสามารถพัฒนา ปรับปรุงหน่วยงานของตนเองได้ตามเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และช่วยให้องค์กรมั่นใจได้ว่าผู้บริหารและพนักงานกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน รวมถึงยังช่วยปลูกฝังความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันระหว่างพนักงาน แต่ปรากฎว่ามีแผนกลยุทธ์เพียงไม่กี่แผนเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ บางครั้งสิ่งที่ทำไปก็ไม่เคยมีการระบุไว้ในแผน และบ่อยครั้งที่แผนกลยุทธ์ถูกละเลยไม่นำไปปฏิบัติ ซึ่งจากประสบการณ์ของแพร็กมา แอนด์ วิลล์กรุ๊ปพบว่า ความล้มเหลวในการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ความพร้อมจากตัวองค์กรเอง และความพร้อมในตัวบุคลากร

 

ออกแบบองค์กรเพื่อผลสำเร็จ

กลยุทธ์ที่วางไว้อาจไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือทำไม่สำเร็จ ซึ่งก็อาจมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมและค่านิยม แนวทางการทำงาน วิธีการสื่อสาร กระบวนการวัดผลงาน การให้ผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ

  • โครงสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพจะต้องสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงประสานงานกันภายใต้เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมและบริบทขององค์กรในขณะนั้น นอกจากนี้โครงสร้างองค์กรควรได้รับการออกแบบจากกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ โดยพิจารณาว่าความรู้ความสามารถด้านใดจำเป็นต่อการทำให้กลยุทธ์องค์กรประสบผล และจะกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร เพื่อให้กลยุทธ์สำเร็จตามเป้าหมาย
  • วัฒนธรรมและค่านิยมนั้นมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย งานขององค์กรจะก้าวหน้าอย่างราบรื่น บรรลุตามเป้าหมายที่องค์กรมุ่งหวัง ก็ต้องมีแบบแผนความคิดและแนวทางทำงานที่ชัดเจนให้พนักงานยึดถือ
  • การทำงานร่วมกันจะต้องมีกรอบกติกาและแนวปฏิบัติที่ทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนและไม่ทับซ้อนกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องวางระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความเข้าใจที่ตรงกันตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้
  • การให้ผลตอบแทนเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้การทำงานประสบผลสําเร็จตามแผน หากพนักงานทราบว่าการสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายจะทำให้เขาได้รับในสิ่งที่องค์กรสัญญาไว้ พฤติกรรมของพนักงานเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะยึดมั่น และสอดคล้องต่อเป้าหมายขององค์กร นอกจากนั้นแล้ว วิธีการวัดผลงานก็ควรนําเรื่องความสามารถในการประสานงานข้ามหน่วยงานมารวมไว้ด้วย ก็จะช่วยให้แผนกลยุทธ์มีโอกาสประสบผลสําเร็จมากยิ่งขึ้น

 

บุคลากรเป็นหัวใจหลักของแผนกลยุทธ์

บุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร แต่ก็หลายครั้งที่แผนกลยุทธ์ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะปัญหาจากตัวบุคลากร ทั้งในด้านศักยภาพความสามารถ พฤติกรรม การมีส่วนร่วม ฯลฯ เช่น พนักงานอาจจะทำงานโดยไม่สนใจภาพใหญ่หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กร หรือคนที่มีส่วนร่วมในการนำกลยุทธ์ไปฎิบัติใช้ลาออก หรือคนที่มีส่วนร่วมนั้นมีงานทำล้นมือ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติใช้

นอกจากนี้ ในการดำเนินธุรกิจองค์กรต้องเผชิญสภาพแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้องค์กรต้องปรับตัวและปรับแผนกลยุทธ์ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของบุคลากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พนักงานจำเป็นต้องสร้างศักยภาพใหม่ เพื่อให้พร้อมแต่การนำแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ไปปฎิบัติใช้

 

กลยุทธ์สร้างความสำเร็จ

มีคำกล่าวว่าความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับการติดกระดุมเม็ดแรก หากติดผิดตั้งแต่ต้นก็จะกลายเป็นความยากลำบากที่จะสำเร็จในตอนท้าย การเขียนแผนงานใดๆ ก็ตาม จึงต้องอาศัยความรู้ เข้าใจถึงความเป็นมา บทบาท เป้าหมาย และพันธกิจของหน่วยงานหรือองค์กรอย่างลึกซึ้ง

แผนงานจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ความสามารถขององค์กรและบุคลากรในการทำให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าตัวแผนกลยุทธ์เอง ผู้นำองค์กรที่มีประสบการณ์ในการทำงานและการนำกลยุทธ์ไปปฎิบัติใช้จะช่วยทำให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นปลายทางของแผนกลยุทธ์นั้นๆ รวมถึงมีเป้าหมายชัดเจนในการกำหนดแผนงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ก่อนจะส่งต่อหรือสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับเกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น และมุ่งมั่นทำงานตามแนวทางที่วางไว้

ขณะเดียวกันองค์กรก็ต้องมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจที่เหมาะสม มีทีมงานในการติดตามงานตามแผน เช่น หน่วยงาน PMO (Project Management Office) มีการกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและทำได้จริง

การนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้สำเร็จนับเป็นหนึ่งในความท้าทายขององค์กร เพราะคำพูดนั้นง่ายกว่าการลงมือทำเสมอ และการปฏิบัติที่ได้ผลดีจะต้องวัดจากผลของงาน ไม่ใช่จากแผนที่นำเสนอ ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรจึงควรพิจารณาการวางกลยุทธ์และการนำกลยุทธ์ไปปฎิบัติอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ “แผนการ” กับ “การลงมือทำ” กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไปในที่สุด

 

1 วารสาร Journal of Management & Organization (2015) โดย คาร์ลอส เจ.เอฟ. คานดิโด (Carlos J.F. Cândido) และ เซอร์จิโอ พี. ซานทอส (Sérgio P. Santos)

ติดตาม Pragma and Will Group ได้ที่