ผลกระทบของ AI Chatbot กับการศึกษา

April 28, 2023

โดย ปิยะพร ขุนทองเอก, Marketing Associate, Pragma and Will Group Co., Ltd.

แชร์บทความนี้

Facebook
Twitter
LinkedIn

“เมื่อ AI Chatbot เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เรียนจะมีความพยายามในการค้นคว้าข้อมูลน้อยลงหรือไม่”

คำว่า “AI Chatbot” เป็นคำที่ได้ยินกันหนาหูมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายเจ้า เช่น Microsoft และ Google เปิดตัว AI Chatbot ขึ้นมา บริษัทที่ได้พื้นที่สื่อ และมียอดผู้เข้าใช้สูงสุด คือ ChatGPT ที่ผู้คนเริ่มนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกกระแสที่พูดถึงการแบนการใช้ ChatGPT ในระบบการศึกษา เพราะมองว่าผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ไม่เต็มที่

หากนึกภาพการเขียน Essay สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จากอดีต จนถึงปัจจุบัน จะสังเกตได้ว่ามีวิธีการรวบรวมข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หากเปรียบเทียบการเข้าถึงข้อมูลให้เป็นบัตรสวนสนุก จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบตามช่วงเวลา ดังนี้

  1. Annual Pass Ticket ในการเข้าห้องสมุดเพื่อหาข้อมูล:

    เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หากต้องทำการบ้าน หรืองานวิจัย เราจะต้องตรงไปที่ห้องสมุด เพื่อยืมหนังสือที่เกี่ยวข้องไปอ่านข้อมูล หรือเขียนสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ หรือเมื่อมีข้อสงสัยต่าง ก็ต้องเข้าห้องสมุดเรื่อย ๆ เหมือน Annual Pass ที่เข้าใช้ตลอด เมื่อมีงานใหม่เข้ามา และถือว่าห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ครบครันที่สุดแล้ว

 

  1. Premium Pass Ticket หรือการใช้ Search engine ในการค้นหาข้อมูล:

    ยุคที่เราไม่จำเป็นต้องมีบัตรห้องสมุดติดตัวเพื่อเข้าไปหาข้อมูลแล้ว เพราะเราสามารถหาข้อมูลได้ผ่าน Search engine เช่น Google แล้วนำข้อมูลจากหลากหลายแห่ง มารวบรวม วิเคราะห์ ตกผลึก และนำไปกลั่นกรองเป็นภาษาของตนเอง ซึ่งเหมือน Premium Pass ที่จะเปิดใช้เมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งเข้าถึงคำตอบรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

  1. Fast Pass Ticket หรือการใช้ AI Chatbot ในการหาข้อมูล:

    ยุคที่เรามีข้อสงสัย ก็สามารถพิมพ์คำถาม หรือสั่งงาน AI Chatbot ได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเปิดข้อมูลหลาย Tabs เหมือนเมื่อก่อน ด้วยความง่ายและเร็วในการใช้งาน กลไกการ Generate คำตอบที่รวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง และวิธีการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าหาข้อมูลและได้คำตอบได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการหาข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในบทความนี้ เราจะพูดถึงผลกระทบของ AI Chatbot ต่อระบบการศึกษา และแนวทางการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI Chatbot ต่อการเรียนการสอนให้ได้สูงสุด

หากพูดถึงความเห็นของสถาบันการศึกษาต่อ AI Chatbot เช่น ChatGPT ในปัจจุบันก็ยังคงเสียงแตกอยู่ บางส่วนอนุญาตให้ผู้เรียนใช้เพื่อช่วยทำงาน แต่บางโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แบนการใช้ ChatGPT เพราะถือว่าผู้เรียนจะไม่ได้ฝึกทักษะที่สำคัญต่อการสร้าง Lifelong learning อย่างทักษะ Critical thinking และ Problem-solving skills เท่าที่ควร

ซึ่งหากมองถึงความเป็นจริงคือ จะสามารถห้ามผู้เรียนไม่ให้ใช้ AI Chatbot ในการทำงานได้จริงหรือ และการห้ามแบบนี้ เป็นทางออกที่ดีจริงรึเปล่า ที่ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมเปิดกว้างในการใช้ AI มาช่วยการทำงานมากขึ้น…

 

ถ้าย้อนไปที่คำถามในต้นบทความ ว่า “ผู้เรียนจะมีความพยายามในการค้นคว้าข้อมูลน้อยลงหรือไม่ เมื่อ AI Chatbot เก่งมากขึ้น” จะเห็นว่าไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใด หากผู้เรียน ใช้ AI Chatbot อย่างเหมาะสม

นั่นคือ ไม่ใช้ AI Chatbot เพียงเพื่อคัดลอกทั้งหมดไปตอบ แต่มีการวิเคราะห์ต่อ และหาข้อมูลอื่นเพิ่มเติม จะทำให้เห็นประโยชน์ใหญ่ ๆ ของการใช้เทคโนโลยี ดังนี้

  1. ช่วยเพิ่มไอเดียที่หลากหลายระหว่างการทำ Brainstorming Process:

    AI Chatbot สามารถช่วย Generate ไอเดียใหม่ ๆ ที่เราอาจคิดไม่ถึง ทำให้เราได้มุมมองที่กว้างขวางและครบมากขึ้น และขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถต่อยอดความคิดนั้นได้อย่างไร

 

  1. ช่วยยกระดับการเรียนรู้ และการเข้าถึงข้อมูล:

    AI Chatbot ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงรองรับภาษาที่หลากหลาย ทำให้ลดช่องว่างในการเรียนรู้ได้ เช่น ผู้เรียนบางท่าน ไม่ชอบถามคำถามคุณครูในห้องเรียน เพราะไม่กล้าเปิดเผยความสงสัยของตนเอง ก็สามารถนำมาถามกับ AI Chatbot ได้ หรือไม่เข้าใจเนื้อหาบางอย่างในหนังสือเรียน ก็สามารถนำไปให้ AI Chatbot ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้นอกเหนือเวลาเรียน

 

  1. ช่วยเพิ่มคุณภาพงานด้วยการเป็น 24/ 7 Feedback Assistant:

    เมื่อผู้เรียนทำงานเสร็จ AI Chatbot สามารถช่วยตรวจสอบความผิดพลาด หรือหา Areas for improvement ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับ Pace ของผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้ Feedback มาจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อผู้เรียนทำ Assignment เสร็จตอนเที่ยงคืน ก็สามารถให้ AI Chatbot ช่วย Feedback และแก้ไขจนกว่าจะพอใจโดยไม่ต้องต่อคิวรอตรวจกับใคร พอถึงเวลาก็เอางานให้ผู้สอนตรวจ ซึ่งอาจได้มุมมองเพิ่มเติม นอกจากความคิดของผู้เรียนเอง และจาก AI Chatbot รวมถึงไม่ต้องคอยแก้ข้อผิดพลาดยิบย่อย ที่ AI Chatbot สามารถช่วยตรวจให้หมดแล้ว ทำให้งานมีคุณภาพมากขึ้น

 

แต่หากคิดอีกในมุมมองนึง ที่บางสถาบันการศึกษาแบนการใช้ ChatGPT หรือ AI Chatbot ในการทำงานหรือทำข้อสอบ สามารถวิเคราะห์ได้ถึง “ความน่ากังวลที่แฝงอยู่” ได้ดังนี้

  1. ผู้เรียนอาจขาดทักษะการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือ Information gathering skills จากการใช้ข้อมูลจาก AI Chatbot เพียงอย่างเดียวจนเคยชิน:

    ผลลัพธ์ของงานอาจดีขึ้นเมื่อใช้ AI Chatbot มาช่วยทำงาน แต่หากมองย้อนกลับไปถึงวิธีการได้ถึงผลลัพธ์นั้น ผู้เรียนอาจมีทักษะการรวบรวมข้อมูล หรือการคิดวิเคราะห์ข้อมูลจากแต่ละแหล่งว่าอะไรควรนำมาใส่ในงานได้น้อยลง เพราะมีความเคยชินจากการใช้ AI Chatbot ในการหาข้อมูล

 

  1. ผู้เรียนอาจขาดทักษะ Problem-solving skills จากการทำงานโดยใช้ AI Chatbot แก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว:

    ข้อนี้ จะมีความน่ากังวล หากผู้เรียนเริ่มต้นการทำงานด้วยการถาม AI Chatbot เป็นอย่างแรกอย่างเคยชิน โดยไม่ผ่านความคิดตั้งต้นของตนเองเลย หรือไม่ได้วิเคราะห์คำถามก่อนว่าต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ทำให้ไอเดียทุกอย่างจะโดนตีกรอบไปตามที่ AI Chatbot ได้ตอบมาโดยตลอด เมื่อมีวิธีการทำงานแบบนี้ อาจทำให้ผู้เรียนขาด Problem-solving skills ที่เป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้และการทำงานในอนาคตได้

 

  1. ผู้เรียนอาจขาด Human interaction จากการถามแต่ AI Chatbot จนขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง:

    ข้อนี้จะน่ากังวล หากผู้เรียนมัวแต่ก้มหน้าก้มตาคุยแต่กับ AI Chatbot ตลอดเมื่อมีข้อสงสัย โดยไม่ถามผู้สอน หรือพูดคุยกับคนร่วมชั้นเรียนเลย จะทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน ไม่เกิดการเรียนรู้จากการถกกันในห้องเรียน และทักษะการสื่อสารระหว่างคนลดลง

 

เมื่อเห็นถึง “ความน่ากังวลแฝง” นี้แล้ว คำถามคือ แล้วต่อไป วิธีการเรียนการสอนควรเป็นแบบไหนถึงจะเหมาะสม เราจึงขอนำเสนอวิธีการที่การเรียนการสอนจะอยู่ร่วมกับ AI Chatbot ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

  1. ส่วนของรูปแบบการสอน

ผู้สอนต้องปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับบริบทที่เปลี่ยนไป นอกจากจะต้องมุ่งใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสอนแล้ว ต้องปรับให้การเรียนมี Collaborative session เพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการ Brainstorm idea ของผู้เรียน และส่งเสริม Human interaction ระหว่างผู้เรียน เพื่อให้ห้องเรียนนั้นเกิดการต่อยอดความระหว่างผู้คน และได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ และได้เรียนรู้จากความคิดเห็นของคนร่วมชั้นเรียน

อีกทั้งต้องปรับปรุงรูปแบบในการให้ Feedback ผู้เรียน เพราะ AI Chatbot สามารถเข้าไปช่วยได้ในบางส่วนแล้ว เพราะฉะนั้นผู้สอนอาจต้องเน้น Feedback ในเรื่องของ Critical thinking, Logical thinking ว่างานที่ผู้เรียนส่งมา ควรมีระบบการคิดอย่างไร เรียบเรียงการคิดอย่างไร จึงจะสามารถพัฒนาวิธีการคิดได้

 

  1. ส่วนของเนื้อหาการสอน

ผู้สอนต้องปรับเนื้อหาการเรียนให้เท่าทันโลกมากขึ้น และ Encourage วิธีการใช้ AI Chatbot ที่เหมาะสมต่อการทำงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุด เช่น

  • สนับสนุนการใช้ AI Chatbot เพื่อช่วย Brainstorm หรือต่อยอดความคิดของตน ไม่ใช่ใช้เพื่อความสะดวกสบายในการทำงานโดยไม่ต้องคิดต่อ ซึ่งเปรียบเหมือนการลอกคำตอบจาก Computer โดยไม่ผ่านการคิดวิเคราะห์ของตนเอง
  • สอนวิธีการป้อนคำถามกับ AI Chatbot เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงตามต้องการมากที่สุด หรือสอนวิธีการเขียน Prompt เพื่อให้ผู้เรียนสามารถต่อยอดวิธีการให้คำสั่ง AI Chatbot ได้ดียิ่งขึ้น 
  • สอนวิธีการประยุกต์ใช้ AI Chatbot ในวิชาของตน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น 

– วิชาการเขียน สามารถใช้ AI Chatbot ในการช่วยให้ Feedback วิธีการเขียนหรือตรวจเช็ค Grammar ได้

– วิชาดนตรีหรือศิลปะ AI Chatbot สามารถช่วยหาแรงบันดาลใจตาม Concept ที่เรากำหนดไว้ได้

– วิชาวิทยาศาสตร์ AI Chatbot อาจเข้าไปช่วยอธิบาย Concept วิธีการคิดที่ซับซ้อนของปัญหา หรือช่วยคิดตัวแปรหรือสมมติฐาน เพื่อเตรียมในการทดลองได้ ฯลฯ

 

  1. ส่วนของรูปแบบ Assignment

เมื่อ AI Chatbot เข้ามามีบทบาทต่อผู้เรียนมากขึ้น การออกแบบรูปแบบของงานหรือข้อสอบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ว่าจะดึงความรู้ของผู้เรียนออกมาวัดผลได้อย่างไร จึงเสนอว่า Assignment ควรเป็นในรูปแบบ Open-ended question หรือการคิดคำตอบจาก Case study หรือ Scenario ที่กำหนดให้ แล้วให้ผู้เรียนนำเสนอไอเดีย ที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ของตนเอง มารวมกับพลังการคิดของ AI Chatbot มากลั่นกรองจนได้ Recommendation ที่ดีที่สุดต่อ Scenario นั้น ๆ

และเนื่องจากมีการใช้ AI Chatbot มาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน สามารถทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและง่ายมากขึ้น ผู้สอนอาจปรับสัดส่วนของคะแนนด้านการคิดวิเคราะห์ให้สูงขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนให้น้ำหนักในการจัดระบบการคิดของตนเองมากขึ้น และให้เวลาการทำงานน้อยลง เช่น จากงานเขียน Essay เดิมให้เวลาหนึ่งอาทิตย์ อาจเปลี่ยนเป็น 4 วันแทน เพื่อเป็นการดึงศักยภาพของการใช้งานความคิดของผู้เรียนและ Technology ให้สูงสุด

นอกจากนี้ อาจมีการสอบแบบปากเปล่า เพื่อทดสอบระบบการคิดของผู้เรียน ซึ่งอาจเป็นรูปแบบของการให้สถานการณ์สมมติไป แล้วให้ผู้เรียนใช้เวลาคิดด้วยตนเอง 5 นาที แล้วถ่ายทอดออกมาภายในเวลาที่กำหนด หรือการให้ชุดคำถามที่ซับซ้อนมา แล้วให้ผู้เรียนจัดระบบความคิด ว่าควรเริ่มทำอะไร ก่อนหลัง พร้อมเหตุผล เพื่อทดสอบ Problem-solving skills ของผู้เรียน และหา Areas for improvement ในอนาคต

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สังเกตได้ว่า การมีบทบาทเพิ่มขึ้นของ AI Chatbot ส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียน ผู้สอน และสถาบันการศึกษา จะใช้ประโยชน์จาก AI Chatbot อย่างไรเพื่อดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาได้สูงสุด และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI Chatbot ได้ในระยะยาว

#PragmaandWillGroup #PWG #AI

 

 

ติดตามบทความต่อไปที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่

  • บทเรียนจากการใช้ Chat GPT ในที่ทำงาน Read More
  • โอกาสและความท้าทายต่อธุรกิจกับ AI ในโลกอนาคต Read More
  • คุณวันเฉลิม สิริพันธ์ุ ให้สัมภาษณ์กับ BrandAge Online เกี่ยวกับมุมมองผู้บริหารทีม HR ในยุค New Normal Read More
หากมีข้อสงสัยเรื่อง Reward Strategy หรือ People & Organization สามารถติดต่อ Pragma and Will Group ได้ผ่านช่องทางด้านล่างนี้

ติดตาม Pragma and Will Group ได้ที่