เปิดลิสต์อาชีพไหนที่บริษัท(ยัง)ต้องการ
April 22, 2020
โดย วันเฉลิม สิริพันธุ์, Managing Partner, Pragma and Will Group Co., Ltd.
แชร์บทความนี้
ตีพิมพ์และเผยแพร่โดย Creative Thailand, TCDC วันที่ 22 เมษายน 2020 เรื่อง เปิดลิสต์อาชีพไหนที่บริษัท(ยัง)ต้องการ
ณ ตอนนี้เป็นช่วงที่หลายบริษัทเริ่มผ่านช่วงการปรับตัวและการนำ Business Continuity Plan มาใช้ เพื่อรับมือมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กันไปแล้ว ซึ่งการปรับตัวตอนนี้อาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่เหมือนช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด แต่หลายบริษัทก็เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ปรับแผนการดำเนินงาน” “ปรับกลุยทธ์ธุรกิจ” และ “หาทางฟื้นฟูธุรกิจ” ซึ่งโดยส่วนมากก็จะมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ
- การดำเนินธุรกิจโดยมี Covid-19 ไปอย่างน้อย 12-18 เดือน
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น
- การเตรียมความพร้อมกับผู้แข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ
- การลดต้นทุน
ซึ่งแน่นอนว่าการปรับแผนและปรับวิธีการดำเนินงานเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดสภาพตลาดแรงงาน การจ้างงาน และความต้องการแรงงาน ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากนี้
งานไหนรุ่ง งานไหนร่วง หลังวิกฤติโควิด-19
ปฏิเสธได้ยากว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีส่วนบีบให้ตลาดแรงงานต้องลดขนาดลงไปอย่างมาก แต่ก่อนที่จะไปดูว่าจะมีอาชีพใดที่จะได้รับผลกระทบจากตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ลองมาทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ที่ทางบริษัท Pragma and Will Group ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจผ่านทางข้อมูล (Data Driven Management Consultant) ใช้ในการคัดกรองอาชีพหรืองานที่จะได้รับผลกระทบกันก่อน โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกงานจะมีดังนี้
- งานที่ถูกทดแทนด้วยช่องทางการขายและการติดต่อใหม่ (Replaced by new channel)
- งานที่ถูกทดแทนด้วยผู้ให้บริการที่ต้นทุนถูกกว่า (Replaced by cheaper cost)
- งานที่ถูกทดแทนด้วยการคิดวิเคราะห์ผ่านระบบหรือเทคโนโลยีใหม่ (Replaced by technology)
- งานที่ถูกทดแทนด้วยผู้แข่งขันประเภทใหม่ (Replaced by disruptor)
ซึ่งถ้าเรานำเกณฑ์เหล่านี้ไปวิเคราะห์งานและอาชีพที่มีในองค์กรในปัจจุบัน จะพบว่า มีงานหลายงานในบริษัทซึ่งเข้าเกณฑ์เหล่านี้ และบางงานอาจเข้าเกณฑ์มากกว่าหนึ่งเกณฑ์ โดยมีตัวอย่างงานที่จะได้รับผลกระทบดังตารางด้านล่าง
เครดิตภาพ : จุฑาทิพย์ บัวเขียว
จากตารางด้านบนจะแสดงให้เห็นว่างานโดยส่วนมากจะถูกทดแทนด้วย “การทำงานแบบใหม่” “การมีเครื่องมือใหม่” หรือ “การตัดงานบางส่วนไปให้เทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการทำแทน” หากลองยกตัวอย่างพนักงานบัญชี 4 คน ซึ่งเดิมต้องลงบัญชีของร้าน 4 สาขา โดยต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร กรอกข้อมูลเข้าระบบ และนำส่งต่อให้เจ้านาย ในกรณีนี้ หากบริษัทหรือร้านค้านั้น ๆ นำระบบ AI มาใช้ในการตรวจสอบเอกสาร มีระบบ Text to Data พร้อมระบบในการลงบัญชีและรวบรวมข้อมูลให้อัตโนมัติ ก็จะส่งผลให้บริษัทนี้ต้องการจำนวนพนักงานบัญชีลดลง พนักงานที่บริษัทยังต้องการอยู่ก็จะลดบทบาทในการกรอกเอกสารลง แต่จะสามารถตรวจสอบเอกสารผ่านทางระบบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งต้นทุนที่ต่ำลงของบริษัท
นอกจากนี้ ในบางกรณีบริษัทอาจจะลดต้นทุนให้ต่ำลงไปได้อีก ถ้าผู้ที่มาช่วยตรวจสอบการทำงานของระบบเป็นผู้ให้บริการแบบ Outsourced พนักงานที่เคยคิดว่าการ Outsourced เป็นเรื่องไกลตัวหรือทำได้ยาก บริษัทไม่น่าจะทำได้สำเร็จ หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อสามเดือนก่อน ก็จะเห็นว่าแทบไม่มีบริษัทไหนเลยที่คิดว่าจะสามารถเปลี่ยนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีต้นทุนเป็นตัวบังคับ โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็ยิ่งเกิดได้ง่ายขึ้น
หรือหากลองคิดต่อว่าจากตัวอย่างในกรณีที่ผู้บริโภคเปลี่ยนการซื้อจากหน้าร้านมาเป็นออนไลน์ และไปดูผลกระทบของงานในมุมอื่น ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่จำนวนพนักงานขายที่ลดลงกันบ้าง เมื่อธุรกรรมการซื้อออนไลน์เกิดขึ้น การทำเอกสารทั้งหมดก็จะเกิดขึ้นผ่านระบบ ตั้งแต่การจัดเตรียมสินค้าไปจนถึงการจัดส่งสินค้า ซึ่งสามารถทำได้โดยบริษัท Fulfilment (Note 1) และขนส่ง ฝั่งลูกค้าก็สามารถติดตามสินค้าผ่านระบบ เขียนรีวิวผ่านระบบ ขณะที่เอกสารทางบัญชีทั้งหมดจากระบบก็สามารถส่งให้บริษัทบัญชีดำเนินการได้โดยง่าย ในเส้นทางการทำธุรกรรมออนไลน์นี้ จะเห็นว่ามีทั้ง “งานที่หายไป” จากบริษัท แต่ย้ายไปเกิดขึ้นในฝั่งผู้ให้บริการแทน และ “งานที่ไม่จำเป็นต้องทำแล้ว” เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีงานที่จะต้องเกิดขึ้นดังตารางด้านบนอยู่ เช่น ผู้พัฒนาระบบ ผู้พัฒนา AI เพื่อแนะนำสินค้าให้ลูกค้า หรือแม้แต่ผู้ให้บริการ Fulfilment เป็นต้น
ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ดังนั้นการปรับตัว เรียนรู้ความรู้ใหม่และความรู้เพิ่มเติม เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบรับกับตลาดแรงงานใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการเรียนรู้ในที่นี้ก็มีได้หลายรูปแบบ เช่น จากเดิมที่พนักงานจะต้องรู้จักงานของตนเองในรายละเอียด ก็จะต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนไปเรียนรู้งานของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น รู้จักหน้างานที่กว้างขึ้น แต่มีความรู้เพียงพอที่จะเป็นคนใส่ข้อมูลให้กับระบบ หรือตรวจสอบข้อมูลจากระบบแทนเพื่อนร่วมงานซึ่งอาจจะถูกเลิกจ้าง เป็นต้น
หรือจากเดิมที่พนักงานเป็นผู้ปฏิบัติงานเอง ก็อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ติดต่อกับบริษัทผู้ให้บริการ (Outsource) ดังนั้นก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน เพื่อสามารถที่จะติดตามหรือตรวจสอบงานได้ นอกจากนี้ก็จะต้องเพิ่มความสามารถในการประสานงานให้มากขึ้นด้วย
ความรู้ที่เคยมีเพื่อคิดวิเคราะห์ตามระบบ ตามเอกสาร ตามหลักเกณฑ์ จะไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะระบบจะสามารถทำแทนแรงงานได้ ความรู้เกี่ยวกับการใช้ข้อมูล Big Data จะมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งในมุมที่จะเป็นผู้บอกระบบว่าควรวิเคราะห์อะไร และเป็นผู้แปลผลเพิ่มเติมจากผลการวิเคราะห์ของระบบ
ในส่วนสุดท้าย หากความสามารถของระบบในปัจจุบันทำงานได้ในระดับนี้ อยากให้เราลองคิดตามกันดูว่า “จะมีอาชีพใดบ้างที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร” เช่น ในกรณีที่ระบบสามารถบอกร้านค้าได้ว่า ความต้องการสินค้า SKU หนึ่ง มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นมากที่สาขา A ในเดือนหน้า ดังนั้นควรทำออนไลน์โปรโมชันทางโซเชียลมีเดียและอีเมลกับลูกค้าในฐานข้อมูลสมาชิกเพศหญิงอายุ 25-40 ปี แต่ระบบก็คาดการณ์ได้อีกว่า มีพนักงานแคชเชียร์ในสาขา A จะลาออก ส่วนแคชเชียร์ในสาขา B จะมีจำนวนเกินที่ต้องการ ดังนั้นระบบจึงแนะนำให้บริษัทติดต่อพนักงานในสาขา B เพื่อย้ายไปปฏิบัติงานที่สาขา A ชั่วคราว หรือติดตั้งแคชเชียร์ระบบ Self-Checkout เพิ่ม และในอีกทางหนึ่งระบบก็จะบอกทางบริษัทให้ปรับแผนการสำรองสินค้า ติดต่อซัพพลายเออร์เพื่อวางแผนในการจัดส่งสินค้า SKU ดังกล่าวมาพร้อมสินค้าอื่น เพื่อประหยัดต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงระบบยังจะบอกฝ่ายการเงินให้เตรียมบริหารเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าได้อย่างครบวงจร
นี่เป็นแค่ตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ระบบสามารถประมวลผลและคาดการณ์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นการเป็น “คนทำงาน” ในวันนี้ จึงต้องเริ่มคิดตามและวิเคราะห์กันดูว่างานที่เราทำอยู่จะเป็นอย่างไรต่อหลังจากนี้ และเราควรจะต้องเรียนรู้ความรู้ใดเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เตรียมตัวพร้อมรับกับตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนับจากนี้
(Note 1) Fulfillment คือบริการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์ในส่วนของพื้นที่เก็บของ การแพ็กสินค้า และจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า จึงเป็นที่มาของนิยามที่ว่า “เก็บ-แพ็ก-ส่ง” เรียกได้ว่า หลังจากที่ร้านค้าได้รับค่าสินค้าจากลูกค้าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้น ก็สามารถให้ Fulfillment ช่วยจัดการได้ทั้งหมด
ติดตามบทความต่อไป เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ
-
บริหารจัดการองค์กรให้ผ่านวิกฤตแบบยั่งยืน Read More
-
รู้กว้าง – รู้ใหม่ – คิดเร็วทำเร็ว DNA มนุษย์งานยุคดิจิทัล Read More
-
4 โฟกัสที่องค์กรไม่ทำไม่ได้ เมื่อ New Normal กลายเป็นแค่อดีต Read More